top of page

หลักกสิกรรมธรรมชาติ ตอน นิยาม 5 ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ

ที่มา : หนังสือการพัฒนาตามหลักกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง




หลักกสิกรรมธรรมชาติ ตอน นิยาม5


ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติ ที่นักกสิกรรมธรรมชาติควรทำความเข้าใจ ให้เห็นถึงความสอดคล้องเชื่อมโยงกันของธรรมชาติทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา ตามวิถีชีวิตในแบบที่ต้องการ


หลักกสิกรรมธรรมชาติ ตอน นิยาม5 (อุตุนิยาม)

อุตุนิยาม


เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ การจะผลิตอาหารให้มนุษย์พอกิน ดินเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ลองมาเป็นเรื่องน้ำ อากาศ คาร์บอนไดออกไซด์หรือเรื่องลม รวมทั้งแสงไฟ กระบวนการพวกนี้สัมพันธ์กันหมด ดินน้ำลมไฟรวมกันกลายเป็นต้นพืชพี่ค่อยๆ เติบใหญ่

หลักกสิกรรมธรรมชาติ ตอน นิยาม5 (พีชนิยาม)

พีชนิยาม


สิ่งมีชีวิตจำพวกพืช สามารถสังเคราะห์พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์มาเลี้ยงตัวเองได้ ได้พลังงานประกอบกันจนมีชีวิต แล้วเกิดและเติบโตอยู่กับที่ ขยายพันธุ์เพื่อให้เกิดชีวิตใหม่และตายไปในที่สุด และการที่พืชเป็นสิ่งมีชีวิต เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่า มนุษย์และสัตว์จะอยู่ร่วมกันกับพืชได้อย่างไร

หลักกสิกรรมธรรมชาติ ตอน นิยาม5 (จิตนิยาม)

จิตนิยาม


ว่าด้วยเรื่องของสิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์ต่างๆ ที่มีจิตใจ เดินทางเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่สามารถรับพลังงานโดยตรงจากดวงอาทิตย์ จึงต้องอาศัยการกินส่วนต่างๆ ของพืช เพื่อนำพลังงานที่พืชหรือพีชนิยามสังเคราะห์จากดวงอาทิตย์ มาสร้างร่างกาย ตั้งเป็นพลังงานของตัวเอง

หลักกสิกรรมธรรมชาติ ตอน นิยาม5 (กรรมนิยาม)

กรรมนิยาม


เรื่องของมนุษย์และสังคม คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงกว่าจิตนิยามทั่วไป เพราะคนมีความสามารถที่จะเข้าใจว่าทำอะไรแล้วจะได้ผลอย่างไร เข้าใจว่าถ้าสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะมีแมลง มีนก มีปลามาอยู่เอง ถ้าขุดบ่อแบบนี้ ถึงมีปลามาก็จะอยู่อาศัยไม่ได้ เพราะไม่มีที่วางไข่ ไม่มีที่หากิน


คนเรียนรู้ที่จะเข้าใจ แล้วทำกรรมตามเหตุปัจจัย ก็จะเอื้อให้สัตว์ต่างๆ ทั้งนกปลากุ้งมาอยู่ แล้วเจริญเติบโตได้ดี เราจัดสภาพแวดล้อม หรือทำกรรมที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อม ให้มีอาหารสมบูรณ์


ฉะนั้นมนุษย์สามารถเลือกได้ว่า จะทำให้โลกนี้สมบูรณ์หรือขาดแคลน หักตัดวงจรความสำคัญของธรรมชาติ ความสมบูรณ์ก็จะหายไป ความอดอยากของมนุษย์ก็จะเพิ่มขึ้น นี่คือ กรรมนิยาม แต่มนุษย์ที่เข้าใจความสัมพันธ์ของกรรมที่ลึกซึ้ง ไปจนเห็นการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า ธรรมนิยาม

ธรรมนิยาม


“ หัวใจคือทุกสิ่งสัมพันธ์กันหมด ”


หากจะเป็นเกษตรกรก็ต้องเป็นนักออกแบบการเกษตร วางแผนการใช้ที่ดินให้ถูกต้อง คนที่เรียนวิชาออกแบบกสิกรรมธรรมชาติ ก็ต้องเข้าใจว่าภูมิศาสตร์แต่ละที่ไม่เหมือนกัน ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ต้องการ เช่น การออกแบบที่ดินเพื่อทำการเกษตร เพื่อใช้อยู่อาศัย เพื่อเป็นคอกสัตว์ หรือเพื่อนเลี้ยงปลากุ้ง เหล่านี้คือภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน


หากจะทำการเกษตร จะเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ สร้างบ้าน ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แต่ไม่เข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้งเลย ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ฉะนั้น หลักภูมิศาสตร์กับหลักสังคม ความสัมพันธ์ของทุกสิ่งจึงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ


การเข้าใจนิยามทั้ง 5 คือการเข้าใจธรรมชาติ ใช้ชีวิตที่สอดคล้อง ไม่ฝืนธรรมชาติ ต้นทุนของทุกอย่างจะไม่สูงเกินที่ควรจะเป็น การสร้างวงจรชีวิตที่มีความสมดุล เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำกสิกรรมธรรมชาติ ทั้งการออกแบบโคก หนอง นา และการมีวิถีชีวิตที่มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง

















ดู 2,494 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page